วันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2557

7อุปนิสัยที่ตรงกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา


The 7 Habits of Highly Effective People

7 อุปนิสัยพัฒนาสู่ผู้มีประสิทธิผลสูง

โดย Stephen R.Covey


           หนังสือเล่มนี้รวบรวมหลักการพื้นฐานในการเป็นคนมีประสิทธิผล(effectiveness) ซึ่งเป็นหลักการเบื้องต้นที่ไม่ซับซ้อน เป็นตัวแทนของหลักการที่ถูกต้อง ซึ่งนำไปสู่ความสำเร็จและความสุขที่แท้จริง แต่ก่อนที่จะอธิบายหลักการทั้ง 7 ประการนี้ เราต้องเข้าใจ”กรอบแนวคิด(paradigms)"ของตัวเราก่อนและจะ”เปลี่ยนกรอบแนวคิด(paradigm shift)นี้ได้อย่างไร
ทั้งจรรยาบรรณด้านบุคลิกภาพและจรรยาบรรณด้านคุณลักษณะเป็นตัวอย่างของกรอบแนวคิดที่มีอยู่ในสังคม คำว่า”กรอบความคิด” ในภาษาอังกฤษ มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก เป็นศัพท์ที่ใช้ทางวิทยาศาสตร์ ก่อนที่จะนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกวันนี้ มีความหมายถึงแบบจำลอง ทฤษฎี การรับรู้ ข้อสันนิษฐาน หรือกรอบที่ใช้อ้างอิง ในความหมายทั่วๆไปหมายถึงแนวทางที่เราใช้”มอง”โลกภายนอก ไม่ใช่ในแง่ของการมองเห็นภาพแต่เป็นในแง่ของการรับรู้ การเข้าใจ และการแปลความหมายของสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น
วิธีง่ายๆที่จะทำความเข้าใจในความหมายก็คือคิดให้เหมือนกับว่าคุณกำลังมองไปที่แผนที่ เราทุกคนรู้ว่า “ตัวแผนที่ไม่ใช่ขอบเขตของประเทศจริงๆ” แผนที่เป็นเพียงวิธีหนึ่งที่ใช้แสดงให้เห็นขอบเขตชายแดนเท่านั้น ซึ่งเหมือนกับเรื่อง”กรอบความคิด” นั่นเอง มันเป็นเรื่องของทฤษฎี คำอธิบาย หรือแบบจำลองของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
สมมติว่าคุณต้องการขับรถไปยังเมืองหนึ่งในชิคาโก คุณคงต้องอาศัยแผนที่เพื่อช่วยให้ไปถึงจุหมายได้ แต่ถ้าคุณใช้แผนที่ผิดหรือเกิดการผิดพลาดในการเรียงพิมพ์ เช่น มีการพิมพ์สลับที่ จะเกิดอะไรขึ้น ลองคิดดูว่าจะยุ่งเหยิงเพียงใด?
คุณอาจแก้ไขปัญหาด้วยพฤติกรรม เช่น ใช้วามพยายามมากขึ้น ขับรถเวียนหาเส้นทางให้มากขึ้น ขับรถเร็วขึ้น แต่ความพยายามที่ทุ่มเทไปอย่างมากที่สุดก็คือ การไปถึงจุดหมายที่ผิดพลาดได้เร็วขึ้นเท่านั้น
คุณอาจแก้ไขปัญหาด้วยทัศนคติ เช่นคิดในแง่ดี ถึงแม้คุณจะยังไปไม่ถึงจุกหมายอยู่ก็ตาม แต่คุณอาจไม่สนใจก็ได้ การมองโลกในแง่ดีของคุณอาจมีผลมากจนคุณสามารถที่จะมีความสุขได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน
พวกเราทุกคนล้วนแต่มีแผนที่ต่างๆมากมายอยู่ในหัว ซึ่งอาจแบ่งเป็นสองแบบคือ แผนที่ของสิ่งที่เป็นอยู่จริง กับ แผนที่ของสิ่งที่ควรจะเป็น เราแปลความหมายของทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตผ่านแผนที่ในสมองของเรา เราไม่ค่อยคำนึงถึงความถูกต้องของแผนที่นัก เราเพียงแต่คิดว่าวิธีที่เรามองเห็นสิ่งต่างๆนั้นก็คือ สิ่งที่เราเป็นอยู่จริง และสิ่งที่มันควรจะเป็นเช่นนั้น


7อุปนิสัยที่ตรงกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา

อุปนิสัยที่ 1 สวมหัวใจนักปราชญ์
ในสังคมไทยสมัยโบราณ มีการกำหนดคุณลักษณะของนักศึกษาไว้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความขยันหมั่นเพียรในการศึกษาเล่าเรียน ความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อครูอาจารย์ ความเคารพเชื่อฟังครูอาจารย์เป็นต้น อันถือได้ว่าเป็นคุณลักษณะภายในจิตใจและถือเป็นหน้าที่ที่นักศึกษาจะต้องประพฤติปฏิบัติในการศึกษาเล่าเรียน นักศึกษาจึงเป็นคนที่มีครูอยู่ในหัวใจที่ถือเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตได้ นอกจากนี้แล้ว ยังจะมีหลักประจำใจที่ถือเป็นหลักจำเป็นของการเป็นนักศึกษาหรือนักปราชญ์ที่จะต้องแสวงหาความรู้อยู่เสมอ เรียกว่า หัวใจนักปราชญ์ซึ่งเรียกย่อ ๆ ว่า หลัก สุ. จิ. ปุ. ลิ.
คำว่า สุ. มาจากคำว่า สุต หมายถึง การฟัง การฟังหรือการอ่านมาก นักศึกษาจะต้องเป็นคนที่ฟังมากและอ่านมาก รับรู้ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ยิ่งในปัจจุบันนี้ เป็นสังคมยุคข้อมูลข่าวสาร ก็ยิ่งมีข้อมูลที่จะรับรู้เป็นจำนวนมากจากสื่อสารชนิดต่าง ๆ
คำว่า จิ. มาจากคำว่า จินต หมายถึง การคิด เมื่อรับรู้ข้อมูลเข้ามาแล้วก็นำมาคิดไตร่ตรอง จัดระบบความคิดให้เป็นระเบียบตามกระบวนการในการคิด หรือนำเอาข้อมูลมาจัดระบบใหม่ให้เป็นระบบความคิดของเราเอง
คำว่า ปุ. มาจากคำว่า ปุจฉา หมายถึง การถาม เมื่อคิดไตร่ตรองแล้ว ยังมีข้อที่สงสัยหรือไม่เข้าใจก็ไตร่ถามครูหรือท่านผู้รู้ รวมทั้งมีข้อสงสัยใคร่รู้ก็สืบค้นหาคำตอบจากแหล่งความรู้แหล่งอื่น ๆ
คำว่า ลิ. มาจากคำว่า ลิขิต หมายถึง การเขียน หรือการสื่อสาร เมื่อรู้อย่างชัดเจนแล้วก็ลงมือบันทึกไว้หรือเขียนแสดงความคิดนั้นเพื่อสื่อไปยังผู้อื่น อันเป็นการแสดงออกถึงความรู้ความสามารถของเราให้ผู้อื่นได้เข้าใจหรือรับรู้ด้วย
หลักหัวใจนักปราชญ์นี้ จึงเป็นหลักที่ใช้ได้อยู่เสมอ ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม การศึกษาจะต้องมุ่งให้นักศึกษาได้ฝึกให้มีทักษะทั้งสี่ประการนี้เสมอ เพื่อจะเป็นบัณฑิตที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

อุปนิสัยที่ 2 ไม่พลาดหลักแห่งการเป็นนักศึกษา
ในยุคปัจจุบันที่สังคมกำลังก้าวไปสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning Society) นักศึกษาจะต้องมีคุณสมบัติที่จะช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นเครื่องมือที่จะช่วยในการฝึกฝนและพัฒนาตนเอง หลักที่จะนำไปสู่การเป็นนักศึกษาดังกล่าวนี้ เรียกว่า แสงเงินแสงทองของชีวิตนักศึกษาหรือ รุ่งอรุณของการศึกษา(พระธรรมปิฎก 2544 : 67) ซึ่งเป็นหลักประกันชีวิตของการเป็นนักศึกษาว่า ชีวิตที่มีคุณลักษณะ 7 ประการต่อไปนี้ จะเป็นชีวิตที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นบัณฑิตและเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ กล่าวคือ
              1.) รู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดี จุดเริ่มต้นของการเป็นนักศึกษาทีดีนั้น จะต้องเริ่มจากการรู้จักเลือกหาแหล่งความรู้และแบบอย่างที่ดี การมีพ่อแม่ ครูอาจารย์ สื่อสารมวลชน ผู้ใหญ่ทั่วไป 4รวมทั้งเพื่อนและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่ดี
           2.) รู้จักจัดระเบียบชีวิต และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม นักศึกษาจะต้องเป็นคนที่มีระเบียบวินัย กล่าวคือ เป็นผู้รู้จักจัดระเบียบความเป็นอยู่ กิจกรรมและกิจการการเรียน รวมทั้งสิ่งแวดล้อมให้เอื้อโอกาสแก่การพัฒนาชีวิตและแก่การศึกษา
           3.) มีแรงจูงใจที่ถูกต้อง มีอุปนิสัยแห่งความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ ใฝ่ดี ใฝ่ทำ ใฝ่สัมฤทธิ์ ใฝ่ความเป็นเลิศหรือมุ่งสู่ความเป็นเลิศ ในการเรียนรู้ หาความสุขจากการศึกษาและมีความสุขจากการทำความดีงามด้วยการใช้สมองและมือในการสร้างสรรค์ แรงจูงใจนี้จะช่วยให้นักศึกษามุ่งมั่นสร้างสรรค์ มีความเพียรพยายามและมีพัฒนาการอยู่เสมอ
          4.) พัฒนาศักยภาพของตนให้เต็มที่ มีอุปนิสัยมุ่งมั่นฝึกตนจนเต็มสุดภาวะที่ความเป็นคนจะให้ถึงได้ มีจิตสำนึกในการที่จะพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา โดยมีความเชื่อมั่นตามหลักการที่ว่า มนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองจนเป็นสัตว์ประเสริฐสูงสุดได้ 5.) มีทัศนคติและค่านิยมที่ดี การเป็นนักศึกษาจะต้องมีทัศนคติและค่านิยมแห่งการเป็นนักศึกษาที่ดีงาม มองสิ่งต่าง ๆ เป็นเรื่องของการเรียนรู้ อยู่ในหลักความคิดความเชื่อที่ดีงามมีเหตุผล เชื่อในหลักของการกระทำว่าเป็นสิ่งที่จะกำหนดสิ่งต่าง
       6.) มีความกระตือรี้อร้นขวนขวาย ไม่ประมาท ไม่เฉื่อยชา เป็นผู้มีจิตสำนึกที่ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท มีจิตสำนึกต่อการเปลี่ยนแปลง มีความกระตือรื้อร้นขวนขวายไม่อยู่นิ่งเฉย ไม่เป็นคนเฉื่อยชา ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงไปเปล่า มีอะไรเกิดขึ้นที่อาจจะเป็นเหตุแห่งความเสื่อม
        7.) รู้จักคิดพิจารณาให้เกิดปัญญาที่จะรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้จักคิด รู้จักพิจารณา มองเป็น คิดเป็น

อุปนิสัยที่ 3 ก้าวหน้าด้วยกงล้อแห่งความสำเร็จ
รถที่จะวิ่งไปถึงจุดหมายปลายทางได้สำเร็จอย่างปลอดภัย จะต้องประกอบด้วยล้อ 4 ล้อฉันใด นักศึกษา หรือนักค้นคว้าใด ๆ ก็ตาม ที่จะประสบความเจริญก้าวหน้าในการศึกษาเล่าเรียน ก็จะต้องมีชีวิตที่เทียมด้วยกงล้อแห่งความสำเร็จเช่นกัน ซึ่งเรียกว่า จักร 4 (พระธรรมปิฎก 2544 : 67) อันเป็นหลักที่จะทำให้ชีวิตแห่งการศึกษาเจริญก้าวหน้า ประสบความสำเร็จ คือ
1. เลือกอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม เลือกหาถิ่นที่อยู่ หรือแหล่งเล่าเรียนดำเนินชีวิตที่ดี ซึ่งมีบุคคลและสิ่งแวดล้อมที่อำนวยแก่การศึกษา การพัฒนาชีวิต การแสวงหาความรู้ การสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม และความเจริญก้าวหน้า
2. รู้จักคบกับคนดี รู้จักเสวนาคบหาหรือร่วมหมู่กับบุคคลผู้รู้ ผู้ทรงคุณ และผู้ที่จะเกื้อกูลแก่การแสวงหาความรู้ ความเจริญก้าวหน้า รวมทั้งการเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่จะเกื้อกูลต่อการศึกษาหาความรู้ เช่น การรู้จักเลือกอ่านหนังสือที่ดี การใช้เครื่องมือสื่อสารที่เป็นไปเพื่อการศึกษาเป็นต้น
3. ดำรงมั่นในการเป็นนักศึกษา ดำรงตนมั่นอยู่ในแนวทางของการเป็นนักศึกษาที่ดีงาม ตั้งเป้าหมายแห่งชีวิตและการศึกษาให้ดีงามและแน่ชัด และทำกิจกรรมทุกอย่างที่จะนำตนไปสู่จุดหมาย แน่วแน่ มั่นคงในแนวทางนั้น ไม่อ่อนไหวออกนอกทาง ไม่หลงเพลิดเพลินในสิ่งยั่วยุหรือความชั่วต่าง ๆ
4. สั่งสมคุณงามความดีและสติปัญญา อาศัยทุนดีที่เป็นพื้นมาแต่เดิม คือ ความมีสติปัญญา ความถนัด และร่างกายดีเป็นต้น รู้จักแก้ไขปรับปรุงตนเอง ศึกษาหาความรู้ สร้างเสริมคุณสมบัติ ความดีงาม ฝึกฝนความชำนิชำนาญเตรียมไว้ก่อนแต่ต้น ต่อเมื่อมีเหตุที่ต้องใช้ก็จะเป็นผู้พร้อมที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จนั้น ๆ ได้อย่างง่าย สามารถสร้างสรรค์ประโยชน์สุขและก้าวสู่ความเจริญในการศึกษายิ่ง ๆ ขึ้นไป 6
อุปนิสัยที่ 4 มุ่งเผล็ดผลด้วยอิทธิบาท
นักศึกษาที่จะประสบความสำเร็จ จะต้องมีคุณธรรมหรือปฏิบัติตามหลักการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียน ที่เรียกว่า อิทธิบาท 4 (พระธรรมปิฎก 2544 : 36) กล่าวคือ
1. มีใจรักในการศึกษาเล่าเรียน (ฉันทะ) มีใจรัก พอใจในการศึกษาเล่าเรียนและศึกษาเล่าเรียนด้วยใจรัก ต้องการทำให้การศึกษาเล่าเรียนออกมาอย่างดีที่สุด มิใช่สักแต่ว่าทำพอให้เสร็จ ๆ หรือเพียงเพราะอยากได้รางวัลหรือคะแนนเท่านั้น แต่มุ่งหวังความเป็นเลิศหรือความเป็นผู้รู้ในศาสตร์นั้น ๆ อย่างแท้จริง
2. พากเพียรศึกษาค้นคว้า (วิริยะ) มีความขยันหมั่นประกอบ หมั่นศึกษาค้นคว้าด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระ ไม่ทอดทิ้ง ไม่ท้อถอย ก้าวไปข้างหน้าจนกว่าจะประสบความสำเร็จแม้ว่าจะมีอุปสรรคมากขนาดไหนก็ตาม
         3. ใส่ใจต่อการศึกษาเล่าเรียน (จิตตะ) ศึกษาค้นคว้าด้วยความตั้งใจ ตั้งจิตรับรู้ในการศึกษาเล่าเรียนและทำสิ่งนั้น ๆ ด้วยความคิด ไม่ปล่อยจิตใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอย ใช้ความคิดในเรื่องที่ศึกษาบ่อย ๆ และเสมอ ๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของนักศึกษา
      4. ใช้ปัญญาสอบสวน(วิมังสา) หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญ ตรวจตราหาเหตุผล รู้จักทดลอง วางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุงงานเป็นต้น เพื่อให้การศึกษาได้ผลดียิ่งขึ้น

อุนิสัยที่ 5 ไม่พลาดหลักเสริมสร้างสติปัญญา
ชีวิตของการเป็นนักศึกษานั้น นอกจากจะมีหลักในการแสวงหาความรู้แล้ว จะต้องพยายามสร้างสรรค์สติปัญญาอยู่เสมอ โดยการปฏิบัติตามหลักแห่งการสร้างความเจริญงอกงามแห่งปัญญา 4 ประการ (วุฒิธรรม) (พระธรรมปิฎก 2544 : 67) คือ
1. คบหาหรือเสวนาผู้รู้ คบหาท่านผู้รู้ ผู้ทรงคุณความดี มีภูมิธรรมภูมิปัญญาน่านับถือ รู้จักเลือกหาแหล่งวิชา รู้จักอ่านหนังสือที่จะให้ความรู้ที่มีประโยชน์
2. ใส่ใจฟังคำสอน เอาใจใส่สดับตรับฟังคำบรรยาย คำแนะนำสั่งสอน แสวงหาความรู้ทั้งจากตัวบุคคลโดยตรง และจากหนังสือหรือสื่ออื่น ๆ ตั้งใจเล่าเรียน ค้นคว้า หมั่นปรึกษาสอบถามให้เข้าถึงความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง
3. คิดให้แยบคายถ่องแท้ รู้ เห็น ได้อ่าน ได้ฟังสิ่งใดก็รู้จักคิดพิจารณาด้วยตนเอง นำมาคิดเป็นระบบความคิดของตนเอง โดยแยกแยะให้เห็นความจริง และสืบสาวให้เห็นความเป็นเหตุผลว่า สิ่งนั้นคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น และจะเกิดผลอะไรต่อไป มีข้อดี ข้อเสีย คุณโทษและเชื่อมโยงสัมพันธ์กับสิ่งอื่น ๆ อย่างไรบ้างเป็นต้น
4.ปฏิบัติให้ถูกหลักหรือนำมาใช้ปฏิบัติจริง นำสิ่งที่ได้ศึกษาเล่าเรียนและรับฟังมา และที่คิดไตร่ตรองดีแล้วไปใช้หรือลงมือปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักของสิ่งนั้น ๆ 

อุปนิสัยที่ 6 ปรึกษาและเคารพครูอาจารย์
       คุณธรรมและจริยธรรมที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งของนักศึกษา ก็คือ ความสัมพันธ์กับครูอาจารย์ สถาบันการศึกษาและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ในฐานะผู้จุดประทีปปัญญา โดยแสดงความเคารพนับถือตามหลักปฏิบัติ (พระธรรมปิฎก 2544 : 69)ดังนี้
1. ลุกต้อนรับ แสดงความเคารพครูอาจารย์ และให้ความเคารพสถาบันการศึกษาและสิ่งที่ให้ความรู้แก่ตนเอง
2. เข้าไปหาครู-อาจารย์และสถาบัน เพื่อบำรุง รับใช้ ปรึกษา ซักถาม รับคำแนะนำเป็นต้นจากครูอาจารย์และจากสถาบันที่เข้าไปศึกษา
3. รู้จักฟังด้วยดี ฟังเป็น รู้จักฟังให้เกิดปัญญา ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของครูอาจารย์ และเคารพเชื่อฟังในกฎเกณฑ์ ระเบียบวินัยของสถาบันการศึกษาและสิ่งที่เป็นเครื่องมือทางการศึกษาเป็นต้น
4. ปรนนิบัติและช่วยบริการครูอาจารย์และสถาบันการศึกษา บำรุงสถาบันการศึกษาและช่วยงานของสถาบันให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และให้เป็นสถาบันที่จะถ่ายทอดความรู้แก่อนุชนต่อไป รวมทั้งการดูแลเครื่องมือการศึกษาให้อยู่คงทน
5. เรียนหนังสือและศิลปวิทยาโดยเคารพ เอาจริงเอาจัง ถือเป็นกิจสำคัญ เรียนโดยตั้งใจ ไม่เฉื่อยชา

อุปนิสัยที่ 7 ตรวจทานตัวเองด้วยคุณธรรมและจริยธรรม 3 ประการ
       การพัฒนานักศึกษาเพื่อก้าวไปสู่การเป็นบัณฑิตที่มีความเป็นเลิศนั้น จะครบถ้วนสมบูรณ์ก็ด้วยการตรวจสอบและประเมินตนเองด้วยหลักคุณธรรมและจริยธรรม 3 ประการ (คณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ 2543) กล่าวคือ
         1. ความเป็นผู้มีสติปัญญา มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ อย่างถ่องแท้ ถูกต้อง ตลอดจนมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง คุณธรรมจริยธรรมข้อนี้ ก็คือ ความเป็นคนเก่งนั่นเอง
       2. เมื่อมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว ก็เป็นผู้สามารถปฏิบัติต่อสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง หรือนำเอาความรู้ความเข้าใจเหล่านั้นมาใช้ปฏิบัติหรือประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้อง ไม่ผิดพลาด ควบคุมตนเอง มีความรับผิดชอบ มีเหตุผล มีความซื่อสัตย์ มีความขยันหมั่นเพียร คุณลักษณะข้อนี้ ก็คือ ความเป็นคนดี
              3. เมื่อปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้ถูกต้องหรือดำเนินชีวิตได้ถูกต้องตามที่ได้ศึกษาเรียนรู้แล้ว ก็จะนำไปสู่ผลที่ต้องการ คือการแก้ปัญหาได้สำเร็จ เมื่อแก้ปัญหาได้สำเร็จลุล่วงแล้วก็จะมีอิสรภาพและมีความสุข คุณธรรมของการเป็นนักศึกษาข้อนี้ ก็คือ ความสุข